โฆษณาน่่าสนใจ-ช่วยคลิ๊กให้ด้วยครับ เพราะเจ้าของบล็อกจะได้รับค่าโฆษณาตอบแทนครับ

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 2 เปิดหนังสือนิทานร้อยบรรทัด (๒)


นิทานร้อยบรรทัด
เรื่องข้าเป็นลูกคุณแม่ด้วยก็ได้” 

 
เจ้านกน้อย     น่ารัก     ร้องทักว่า
ไปไหนมา    หนูเล็ก     เด็กชายหญิง
ทั้งรูปร่าง     หน้าตา     น่ารักจริง
ข้ายิ่งดู     ก็ยิ่ง     จำเริญตา

สองพี่น้อง     เห็นวิหค     นกพูดได้
ก็พอใจ     อยากจะรัก     ให้นักหนา
ต่างนึกชอบ     ชิงกันตอบ     สกุณา
ทั้งสองข้า     ไปโรงเรียน     เพียรประจำ

นกว่า อ้อ !     ไปขีดเขียน     เรียนหนังสือ
แล้วร้องฮื่อ !     มิน่าสม     ที่คมขำ
เจ้าทำเพลง     กันหรือเปล่า     อย่างเราทำ
แล้วร้องรำ     ให้ดู    คู คู้ คู

พอนกร้อง     เด็กก็รับ     ขับเสียงใส
ฮ้าฮ้าไฮ้     ร้องเพลง     เก่งทั้งคู่
เจ้ารู้จัก     ทักข้า     น่าเอ็นดู
ชะ! ช่างรู้     ผูกไมตรี     ดีกระไร

นกร้องต่อ    อ้อ! จริงแล้ว     เกลอ(1) แก้วเอ๋ย
เราไม่ผิด     กันเลย     ที่ตรงไหน
เจ้ามีจิต     ข้านี้     ก็มีใจ
รู้รักใคร่     ชิงชัง     รู้รังแก

สองพี่น้อง     หัวร่อ     ฉอเลาะรับ
ข้ารักเจ้า     เจ้านับ     เป็นเพื่อนแน่
มาเถิดมา     ไปกับข้า     อย่าเชือนแช
จะอ้อนวอน     คุณแม่     ให้เลี้ยงไว้

เกลอ(1) หมายถึง เพื่อนสนิท

นกร้องว่า    ท่าที     คงดีแน่
ข้าเป็นลูก     คุณแม่     ด้วยก็ได้
ข้าเป็นน้อง     เจ้าเป็นพี่     ดีกระไร
ได้ช่วยกัน     รับใช้     งานบ้านเรือน

แล้วโผผิน     บินลง     เกาะตรงไหล่
สองพี่น้อง     ดีใจ     ใครจะเหมือน
แล้วออกเดิน     พานกไป     ไม่แชเชือน
เรามีเพื่อน     เป็นปักษี(1)     ช่างดีจริง

ปักษี(1) หมายถึง นก



เจ้านกน้อย     ขันคู    จู๊กูฮูก!
เด็กสนุก     ให้จังหวะ     กระหนุงกระหนิง
ต๊ะเท่งเท่ง!     เท่งต๊ะ!     ติงเท่งติง!
แล้วอย่าทิ้ง     ข้าไป     ให้โศกา

แม่นั่งคอย     ลูกน้อย     ที่หน้าบ้าน
คอยอยู่นาน     นึกกังวล     ก็บ่นหา
เอ๊ะ! นี่หนู     ทำไม     ยังไม่มา
หรือว่าพา     กันไถล     ไม่เชื่อฟัง

สองพี่น้อง     ทันใด     ก็ไปถึง
เห็นแม่นิ่ง     หน้าบึ้ง     รีบลงนั่ง
ยกมือไหว้    อภัยโทษ     ลูกสักครั้ง
ที่ไม่ทำ     ตามสั่ง     อย่างที่เคย

เพราะเจ้านก     ตัวนี้     ที่บนบ่า
มันชวนหยุด     สนทนา     ถ้าลูกเฉย
มันคงนึก     เสียใจ     ไม่น้อยเลย
ว่าเราสอง     เฉยเมย     ไม่คบมัน



นกร้องว่า    คุณแม่ขา     พี่ดีนัก
ใครใครเห็น     ก็ต้องทัก     ไม่แต่ฉัน
ปากก็ดี     ใจก็ดี     ดีครบครัน
เป็นเสน่ห์     ผูกพัน     เอาฉันมา

เป็นลูกเลี้ยง     คุณแม่     แต่วันนี้
แม่ชอบใจ    เออ! นกนี่     ดีนักหนา
ช่างรู้จัก     พรอดพร่ำ     จำนรรจา(1)
เป็นลูกข้า     ก็ได้     เป็นไรมี

จำนรรจา(1) หมายถึง พูด



อยากอยู่กรง     ก็จะหา     มาให้เจ้า
หรือพอใจ     จับเจ่า     ยอดพฤกษี(1)
ก็ตามแต่     จะสมัคร     ด้วยภักดี
แม่จะเลี้ยง     เต็มที่     ไม่ฉันทา

นางแมวหมอบ     ข้างแม่     แลดูนก
ชะ! โปดก     ช่างพรอด     ยอดภักษา(2)
เจ้าเนื้อหวาน     กินสดสด     รสโอชา
แล้วแยกเขี้ยว     ตั้งท่า     จะตะครุบ

แม่ตวาด    ช้า!นางแมว     แล้วกันเจ้า
พลางตีเข้า     อย่างจัง     เสียงดังปุบ
นางแมวกลัว     ระย่อ     ลงงอฟุบ
เนื้อกระดุบ     กระดิบ     ริบหรี่ตา

เจ้าคิดเอา     ชีวิตเขา     เพราะตะกละ
ชีวิตเจ้า     บ้างล่ะ     รักไหมหวา
จะว่าโซ     ฤ ก็เปล่า     พร้อมข้าวปลา
มีให้กิน     ทุกเวลา     ไม่ขาดแคลน

พฤกษี(1)    หมายถึง ต้นไม้,       ภักษา(2) หมายถึง อาหาร




สองพี่น้อง     จ้องดูแมว     แล้วคว้านก
เข้ามากอด     ไว้กับอก     ตกใจแสน
ชิ! ชะ นาง     ตัวดี     ไม่มีแกลน(1)
เดี่ยวก็ตี     ให้แล่น     เตลิดไป

นกร้องว่า    คุณพี่ขา     อย่าโมโห
แมวมันโง่     สอนสั่ง     คงยังได้
พี่ไม่เลี้ยง     มันจะอยู่     กับผู้ใด
มันเกเร     ใครใคร     เขาก็ชัง

แกลน(1)    เกรงกลัว


แมวหมอบนิ่ง     นึกอาย     ขายหน้านก
โอ้โอ๋อก     ถูกหา     ว่าโง่งั่ง
เพราะตะกละ     เห็นแก่กิน     สิ้นยับยั้ง
จนกระทั่ง     นกน้อย     พลอยว่าเอา

แม่หัวร่อ     ฮะ!ฮะ!     กระนั้นหรือ
หายหัวดื้อ     หายตะกละ     ละซีเจ้า
สำนึกตัว     อย่างนี้     ดีไม่เบา
ใครใครเขา     ก็อภัย     ให้ทั้งนั้น

แมวร้องว่า    คุณแม่ขา     นกดีนัก
เขาไม่ยัก     ถือโทษ     โกรธเคืองฉัน
ต่อไปนี้     จะมี     ไมตรีกัน
คิดผูกพัน     เป็นเพื่อน     ร่วมเรือนชาน

เด็กร้องว่า    ดีแล้ว     นางแมวเอ๋ย
จะได้เคย     รสรัก     สมัครสมาน
เคยรู้แต่     เกลียดหนู     ศัตรูพาล
จนเคยตัว     ชอบประหาร     ตลอดมา



สืบแต่นั้น     นกคู     อยู่เป็นสุข
พอส่งเสียง     จู้กูฮุก     แมวมองหา
แล้วร้องรับ     เหมียวเหมียว     เหลียวหน้าตา
สองพี่น้อง     หุยฮา     ทุกวี่วัน


จบนิทานร้อยบรรทัดเรื่องที่ ๑

3 ความคิดเห็น:

  1. เห็นหนังสือที่เคยเรียนแล้วนึกถึงตอนเด็กครับตอนนี้ผมมีอายุได้65ปีแล้ว

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ8 มีนาคม 2566 เวลา 06:08

    คิดถึงตอนเรียนสมัยเด็กๆเลยครับ

    ตอบลบ