โฆษณาน่่าสนใจ-ช่วยคลิ๊กให้ด้วยครับ เพราะเจ้าของบล็อกจะได้รับค่าโฆษณาตอบแทนครับ

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 1 เปิดหนังสือดอกสร้อยสุภาษิต (1)

ตอนที่ 1
เปิดหนังสือดอกสร้อยสุภาษิต

นานมากแล้วที่ ประเสริฐ ไม่ได้ย่างกรายเข้ามาภายในห้องเก็บของ ทั้งๆที่มันก็อยู่ภายในบ้านของเขาเองนั่นแหละ แต่ดูเหมือนว่าการเป็นครูที่ดีนั้น จะดึงเอาเวลาส่วนใหญ่ของเขาไปเสียเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงก่อนการเกษียณอายุราชการ ที่เขาต้องรับหน้าที่ “อาจารย์ใหญ่” ของโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ อีกหนึ่งตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงทำให้เขาแทบจะลืม “ห้องเก็บของ” ห้องนี้ไปเสียสนิท
      “ดีเหมือนกันที่ชีวิตหลังเกษียณ ทำให้ฉันมีเวลาพอที่จะจัดการเรื่องบ้านช่องของฉันเองบ้าง” ประเสริฐพูดกับตัวเองเบาๆ

ภายในห้องมีของต่างๆที่ สมพิศ ภรรยาของเขานำมาจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่พื้นห้องมีกล่องกระดาษวางอยู่หลายใบ ซึ่งภายในนั้นคงบรรจุของที่เขาไม่ได้ใช้แล้ว แต่มันยังมีคุณค่าเกินกว่าจะทิ้งไป เขาใช้สายตาสำรวจไปจนทั่วห้อง และแล้วมันก็ไปสะดุดกับ ตัวอักษรบนกระดาษสีขาว ที่ถูกแปะไว้ด้านบนของกล่องกระดาษกล่องหนึ่งว่า หนังสือเรียนระดับประถมศึกษา”
มัน เหมือนมีเวทมนต์อะไรบางอย่าง ที่มาสะกดให้ประเสริฐ เดินตรงเข้าไปหากล่องใบนั้น ยกขึ้นมา แล้วนำกล่องใบนั้นไปยังห้องทำงานของเขา ซึ่งจากนี้ไปเขาก็คงจะได้ใช้ “ห้องทำงาน” ห้องนี้เป็นประจำแน่ๆ
หนังสือ เรียนเก่าๆถูกหยิบออกมาจากกล่อง และวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะทำงานของเขา ประเสริฐมองดูหนังสือเหล่านั้น พลางยิ้มอย่างมีความสุข และนึกขอบใจ สมพิศ ภรรยาของเขาจริงๆที่ได้เก็บหนังสือเหล่านี้ไว้
“มีอะไรบ้างล่ะนี่?” เขาพึมพำเบาๆ พร้อมๆกับค่อยๆหยิบหนังสือที่วางอยู่บนโต๊ะตรงหน้าของเขาขึ้นมาทีละเล่ม


แบบอ่านภาษาไทย ชุด สุดา กับ คาวี เรื่อง มาดูอะไร ชั้นประถมปีที่ ๑ เขาอ่านตัวหนังสือที่อยู่บนปกของ หนังสือเล่มแรก ที่เขาหยิบขึ้นมา จากนั้นเขาก็หยิบเล่มต่อไปขึ้นมาดู แล้วประเสริฐก็รำพึงเบาๆอยู่คนเดียวว่า
 
“โอ้โห นี่คุณสมพิศ เก็บหนังสือ สุดา กับ คาวี ไว้ครบทั้ง ๔ เล่มเลย” แล้วประเสริฐ ก็นำหนังสือทั้งสี่เล่มมาเรียงเข้าไว้ด้วยกัน

หนังสือ ทั้ง ๔ เล่ม มีรูปวาดอยู่บนปกของหนังสือ เป็นรูปของเด็กๆที่กำลัง เดิน วิ่ง เล่น อยู่บนถนนสีขาว มีชื่อเรื่องว่า “มาดูอะไร” “ไปเล่นด้วยกัน” “ออกไปข้างนอก” และ “ฉันออกจากบ้าน”  

หลังจากนั้น ประเสริฐ ก็เพลิดเพลินไปกับการอ่านหนังสือ ชุด “สุดา กับ คาวี” อยู่พักใหญ่ๆ จึงหยิบหนังสือขึ้นมาใหม่อีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเล่มนี้หน้าปกของหนังสือเขียนบอกชื่อเรื่องไว้ว่า
บทอาขยานภาษาไทย ดอกสร้อยสุภาษิต” ชั้นประถมปีที่ ๑-๒ ของกระทรวงศึกษาธิการ ราคา .๕๐
 
เขา หัวเราะเบาๆ เพราะใจมันเผลอคิดไปว่าเงิน ๕๐ สตางค์ ในวันนี้ ดูเหมือนว่าจะเอาไปซื้ออะไรแทบไม่ได้เลย เขาพยายามคิดทบทวนดูว่า เนื้อหาภายในของหนังสือเล่มนี้มันเป็นอย่างไร แต่เขาก็ยังนึกไม่ออก เพราะระยะเวลาจากเด็กนักเรียนชั้น ป.1 มาถึงวัยเกษียณอายุในวันนี้ มันช่างนานมากเหลือเกิน จริงอยู่ที่เขาเป็นครู แต่ก็เป็นครูในระดับมัธยมศึกษาไม่ใช่ประถมศึกษา

แต่เขาก็ยังพอจะจำความได้ว่า  เด็กนักเรียนในอดีตนั้น คุณครูที่โรงเรียนจะให้เด็กนักเรียนท่อง “บทอาขยาน” เป็นประจำทุกๆวัน และหนังสือ ดอกสร้อยสุภาษิต ก็เป็นหนังสือที่ใช้ในการท่องบทอาขยาน ประเสริฐ เปิดหนังสืออย่างแผ่วเบา เนื่องจากความเก่าของกระดาษเขาอาจจะทำให้มันขาดได้ง่ายๆ 



 
เมื่อ เปิดดูเนื้อหาภายในเล่ม เขาก็ถึงบางอ้อเลยทีเดียว มันเป็นบทกลอนสำหรับเด็กที่ถูกแต่งไว้เพื่อให้เด็กๆ เรียนร้องและท่องเล่น ในลักษณะของ “บทอาขยาน” โดยใช้ภาษาง่ายๆ แต่มีสำนวนที่สละสลวย และแฝงคติสอนใจ เพื่อให้เด็กๆได้อ่านและซึมซับคติเหล่านั้นเอาไว้ แล้วนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป
ในขณะที่เขากำลังคิดย้อนอดีตเพลินๆ จนไม่ได้สังเกตว่า น้องแพรวา หลานสาวตัวน้อย เข้ามายืนอยู่ข้างหลังของเขา แล้วถามด้วยเสียงเล็กๆน่ารักว่า

“คุณปู่ทำอะไรอยู่คะ?” ประเสริฐหันไปยิ้มให้กับเด็กน้อย แล้วกล่าวตอบไปว่า
“ปู่กำลังอ่านหนังสือเก่าๆ สมัยเมื่อปู่เป็นเด็กนักเรียนชั้น ประถมอยู่จ้ะ” ว่าแล้วเขาก็อุ้มหลานสาวสุดที่รักขึ้นมานั่งตัก
“อันนี้เป็นหนังสือของชั้น ป.๒ สมัยก่อนหรือคะคุณปู่” เด็กน้อยหยิบหนังสือดอกสร้อยสุภาษิตขึ้นมาถือไว้
“ใช่จ้ะ แต่ปู่ชักจะสงสัยแล้วว่า เด็ก ป.๔ จะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ไหมนะ”

“ได้ซิคะ ชิวๆอยู่แล้วค่ะ” น้องแพรวา ตอบด้วยภาษาของเด็กสมัยนี้ ชิวๆนี่เด็กสมัยนี้จะรู้ไหมนะว่า คำว่า ชิวๆ ที่พวกเขาพูดกันอยู่ในเวลานี้ มีที่มาอย่างไรและมีความหมายจริงๆว่าอย่างไร ซึ่งประเสริฐเชื่อว่า ถึงเขาจะถามไปหลานสาวก็คงไม่รู้คำตอบในเรื่องนี้แน่ๆ
“ถ้างั้น เรามาอ่านด้วยกันดีไหมจ๊ะ” เขากล่าวชวน
“ดีซิคะคุณปู่ หนูอยากอ่านจังเลยค่ะ” หลานสาวกล่าวตอบด้วยความดีใจ
“ถ้าอย่างนั้น เรามาเริ่มต้นกันด้วยหนังสือเล่มนี้เลย ไหนอ่านให้ปู่ฟังหน่อยซิว่า หนังสือเล่มนี้เรื่องอะไร”
“บทอาขยานภาษาไทย ดอกสร้อยสุภาษิต...
“เก่งมากจ้ะสาวน้อย งั้นเรามาอ่านต่อกันเลยนะ” จากนั้นปู่กับหลานสาว ก็อ่านบทกลอนด้วยกันอย่างมีความสุข...

ตอนที่ 1 เปิดหนังสือดอกสร้อยสุภาษิต (2)



เด็กน้อย
ผู้แต่ง: ไม่ทราบ


เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
ความรู้เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เจ้าจะได้มีวิชา
เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน

ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน
จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน
เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย

 
แมวเหมียว
ผู้แต่ง: นายทัด เปรียญ


แมวเอ๋ยแมวเหมียว
รูปร่างปราดเปรียว(1) เป็นนักหนา
ร้องเรียกเหมียว ๆ เดี๋ยวก็มา
เคล้าแข้งเคล้าขา(2) น่าเอ็นดู

รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง
ค่ำ ๆ ซ้ำนั่งระวังหนู
ควรนับว่ามันกตัญญู
พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย ฯ

ปราดเปรียว(1) หมายถึง คล่องแคล่ว ว่องไว
เคล้าแข้งเคล้าขา(2) หมายถึง คลอเคลียอยู่ใกล้ๆ



ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
ผู้แต่ง: สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


ตั้งเอ๋ยตั้งไข่
จะตั้งไยไข่กลมก็ล้มสิ้น
ถึงว่าไข่ล้มจะต้มกิน
ถ้าตกดินเสียก็อดหมดฝีมือ

ตั้งใจเรานี้จะดีกว่า
อุตส่าห์อ่านเขียนเรียนหนังสือ
ทั้งวิชาสารพัดเพียรหัดปรือ(1)
อย่าดึงดื้อตั้งไข่ร่ำไร(2 )เอย ฯ




หัดปรือ(1) หมายถึง ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ
ร่ำไร(2) หมายถึง อ้อยอิ่ง ชักช้าไม่ยอมลงมือทำ




 
นกขมิ้นเหลืองอ่อน
ผู้แต่ง: หลวงพลโยธานุโยค (นก)


ปักเอ๋ยปักษิน(1)
นกขมิ้นเรื่อเรืองเหลืองอ่อน
ถึงเวลาหากินก็บินจร
ครั้นสายัณห์(2) ผันร่อนมานอนรัง

ความเคยคุ้นสกุณา(3) อุตสาหะ
ไม่เลยละพุ่มไม้ที่ใจหวัง
เพราะพากเพียรชอบที่มีกำลัง
เป็นที่ตั้งตนรอดตลอด เอย ฯ
 
ปักษิณ(1) และ สกุณา(3) หมายถึง นก
สายัณห์(2) หมายถึง เวลาเย็น


จิงโจ้โล้สำเภา
ผู้แต่ง: หลวงวิจิตรวาทการ


จิงเอ๋ยจิงโจ้
เล่นโล้(1)ในลำสำเภาใหญè
เพื่อออกแรงออกกำลังโดยตั้งใจ
ที่จะให้เข้มแข็งและอดทน

เรานักเรียนต้องไม่คร้านการกีฬา
เรื่องพลศึกษาต้องฝึกฝน
ให้แข็งแรงถ้วนทั่วทุกตัวตน
เพื่อเป็นคุณแก่ตนและชาติ เอย ฯ

โล้(1) หมายถึง ทำให้เรื่อแล่นไปโดยการโยกพาย

 
ซักส้าวมะนาวโตงเตง
ผู้แต่ง: ไม่ทราบ


ซักเอ๋ยซักส้าว(1)
ผลมะนาวทิ้งทานในงานศพ
เข้าแย่งชิงเหมือนสิ่งไม่เคยพบ
ไม่น่าคบเลยหนอพวกขอทาน

ดูประหนึ่งขัดสนจนปัญญา
มีทางหากินได้หลายสถาน
ประหลาดใจเหตุไฉนไม่ทำงาน
ประกอบการอาชีพที่ดี เอย ฯ

ซักส้าว(1) คือ การเล่นชนิดหนึ่งของเด็กโดยการจับแขนดึงกันไปมา ในที่นี้ หมายถึง การแย่งชิง




 
ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกระบอก
ผู้แต่ง: สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


ตุ๊ดเอ๋ยตุ๊ดตู่
ในเรี่ยวในรูช่างอยู่ได้
ขี้เกียจนักหนาระอาใจ
มาเรียกให้กินหมากไม่อยากคบ

ชาติขี้เกียจเบียดเบียนแต่เพื่อนบ้าน
การงานสักนิดก็คิดหลบ
ตื่นเช้าเราจักหมั่นประชันพลบ(1)
ไม่ขอพบขี้เกียจเกลียดนัก เอย ฯ

พลบ(1) หมายถึง เวลาใกล้ค่ำ



เรือเล่นสามเส้นสิบห้าวา
ผู้แต่ง: ทัด เปรียญ


เรือเอ๋ยเรือเล่น
สามเส้นเศษวาไม่น่าล่ม
ฝีพายลงเต็มลำจ้ำตะบม
ไปขวางน้ำคว่ำจมลงกลางวน

ทำขวาง ๆ รี ๆ ไม่ดีหนอ
เที่ยวขัดคอขัดใจไม่เป็นผล
จะก่อเรื่องเคืองข้องหมองกมล
เกิดร้อนรนร้าวฉานรำคาญ เอย ฯ

นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า
ผู้แต่ง: หลวงวิจิตรวาทการ


นกเอ๋ยนกเอี้ยง
คนเข้าใจว่าเจ้าเลี้ยงซึ่งควายเฒ่า
แต่นกเอี้ยงนั้นเลี่ยงทำงานเบา
แม้อาหารก็ไปเอาบนหลังควาย

เปรียบเหมือนคนทำตนเป็นกาฝาก
รู้มากเอาเปรียบคนทั้งหลาย
หนึ่งงานหนักคอยสมัครงานสบาย
จึงน่าอายเพราะเอาเยี่ยงนกเอี้ยง เอย ฯ

นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง
ผู้แต่ง: พระยาพินิจสารา (ทิม)


นกเอ๋ยนกกิ้งโครง
หลงเข้าโพรงนกเอี้ยงเถียงเจ้าของ
อ้อยอี๋เอียงอ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง
เจ้าของเขาว่าหน้าไม่อาย

แต่นกยังรู้ผิดรัง
นักปราชญ์รู้พลั้งไม่แม่นหมาย
แต่ผิดรับผิดพอผ่อนร้าย
ภายหลังจงระวังอย่างพลั้ง เอย ฯ




วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 2 เปิดหนังสือนิทานร้อยบรรทัด


ตอนที่ 2
เปิดหนังสือนิทานร้อยบรรทัด

หลายวันมาแล้วที่ ประเสริฐ ขลุกอยู่กับหนังสือเรียนสมัยเก่าๆ เขาพยายามคัดหนังสือบางเล่มเอาไว้ให้หลานสาวคนโปรดของเขาอ่านต่อหลังจากที่ได้เคยอ่านหนังสือ “ดอกสร้อยสุภาษิต ด้วยกันไปแล้วเล่มหนึ่ง
“คงไม่มีเล่มไหนจะดีไปกว่าเล่มนี้อีกแล้วหลานรัก” เขาพูดพึมพำอยู่คนเดียว เมื่อหยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “นิทานร้อยบรรทัดขึ้นมา
 
หนังสือเล่มนี้ แต่งโดย หลวงสำเร็จวรรณกิจ เรียบเรียง ตีพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ภายในเล่มมีนิทาน ๒ เรื่อง เรื่องละ ๑๐๐ บรรทัดพอดี เขาจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่เขาชื่นชอบมากเป็นพิเศษเมื่อตอนเขายังเด็ก เหตุเพราะว่ามันเป็น “หนังสือนิทาน” แต่ความแตกต่างอันเป็นเสน่ห์ของมันก็คือ มันถูกแต่งให้เป็น “บทกลอน” ที่สอดคล้องแสนไพเราะจับใจยิ่งนัก

หนังสือนิทานร้อยบรรทัดนี้ ใช้ภาษาที่เด็กๆสามารถเข้าใจ และจดจำได้ง่ายๆ และด้วยหนังสือเรียนประเภทนี้นี่เองที่ทำให้ ประเสริฐ กลายเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือและคุ้นเคยกับบทกวีต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนั้น ภายในหนังสือนี้ก็ยังมีรูปประกอบเรื่องอยู่ด้วย เพื่อให้เด็กจินตนาการตามไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เขาเชื่อว่า น้องแพรวา จะต้องชอบหนังสือเล่มนี้แน่ๆ ยังไม่ทันไรเขาก็ได้ยินเสียงฝีเท้าเล็กๆวิ่งตรงมาที่ห้องทำงานของเขา

“คุณปู่ขาสวัสดีค่ะ” หลานสาวคนสวยในชุดนักเรียน ยกมือไหว้เขาพร้อมกับกล่าวสวัสดี เขารีบยกมือขึ้นพนมไหว้ระหว่างอก เพื่อรับไหว้หลานรัก พร้อมกล่าวตอบว่า
สวัสดีจ้ะ คนเก่งของปู่ วันนี้ปู่มีหนังสือนิทาน ไว้ให้น้องแพรวาอ่านด้วยนะ สนใจไหม” เขาแกล้งถาม
“สนใจซี่คะ” ว่าแล้วสาวน้อยก็กระโดดขึ้นมาอยู่บนตักของผู้เป็นปู่ทันที

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 2 เปิดหนังสือนิทานร้อยบรรทัด (๒)


นิทานร้อยบรรทัด
เรื่องข้าเป็นลูกคุณแม่ด้วยก็ได้” 

 
เจ้านกน้อย     น่ารัก     ร้องทักว่า
ไปไหนมา    หนูเล็ก     เด็กชายหญิง
ทั้งรูปร่าง     หน้าตา     น่ารักจริง
ข้ายิ่งดู     ก็ยิ่ง     จำเริญตา

สองพี่น้อง     เห็นวิหค     นกพูดได้
ก็พอใจ     อยากจะรัก     ให้นักหนา
ต่างนึกชอบ     ชิงกันตอบ     สกุณา
ทั้งสองข้า     ไปโรงเรียน     เพียรประจำ

นกว่า อ้อ !     ไปขีดเขียน     เรียนหนังสือ
แล้วร้องฮื่อ !     มิน่าสม     ที่คมขำ
เจ้าทำเพลง     กันหรือเปล่า     อย่างเราทำ
แล้วร้องรำ     ให้ดู    คู คู้ คู

พอนกร้อง     เด็กก็รับ     ขับเสียงใส
ฮ้าฮ้าไฮ้     ร้องเพลง     เก่งทั้งคู่
เจ้ารู้จัก     ทักข้า     น่าเอ็นดู
ชะ! ช่างรู้     ผูกไมตรี     ดีกระไร

นกร้องต่อ    อ้อ! จริงแล้ว     เกลอ(1) แก้วเอ๋ย
เราไม่ผิด     กันเลย     ที่ตรงไหน
เจ้ามีจิต     ข้านี้     ก็มีใจ
รู้รักใคร่     ชิงชัง     รู้รังแก

สองพี่น้อง     หัวร่อ     ฉอเลาะรับ
ข้ารักเจ้า     เจ้านับ     เป็นเพื่อนแน่
มาเถิดมา     ไปกับข้า     อย่าเชือนแช
จะอ้อนวอน     คุณแม่     ให้เลี้ยงไว้

เกลอ(1) หมายถึง เพื่อนสนิท

นกร้องว่า    ท่าที     คงดีแน่
ข้าเป็นลูก     คุณแม่     ด้วยก็ได้
ข้าเป็นน้อง     เจ้าเป็นพี่     ดีกระไร
ได้ช่วยกัน     รับใช้     งานบ้านเรือน

แล้วโผผิน     บินลง     เกาะตรงไหล่
สองพี่น้อง     ดีใจ     ใครจะเหมือน
แล้วออกเดิน     พานกไป     ไม่แชเชือน
เรามีเพื่อน     เป็นปักษี(1)     ช่างดีจริง

ปักษี(1) หมายถึง นก



เจ้านกน้อย     ขันคู    จู๊กูฮูก!
เด็กสนุก     ให้จังหวะ     กระหนุงกระหนิง
ต๊ะเท่งเท่ง!     เท่งต๊ะ!     ติงเท่งติง!
แล้วอย่าทิ้ง     ข้าไป     ให้โศกา

แม่นั่งคอย     ลูกน้อย     ที่หน้าบ้าน
คอยอยู่นาน     นึกกังวล     ก็บ่นหา
เอ๊ะ! นี่หนู     ทำไม     ยังไม่มา
หรือว่าพา     กันไถล     ไม่เชื่อฟัง

สองพี่น้อง     ทันใด     ก็ไปถึง
เห็นแม่นิ่ง     หน้าบึ้ง     รีบลงนั่ง
ยกมือไหว้    อภัยโทษ     ลูกสักครั้ง
ที่ไม่ทำ     ตามสั่ง     อย่างที่เคย

เพราะเจ้านก     ตัวนี้     ที่บนบ่า
มันชวนหยุด     สนทนา     ถ้าลูกเฉย
มันคงนึก     เสียใจ     ไม่น้อยเลย
ว่าเราสอง     เฉยเมย     ไม่คบมัน



นกร้องว่า    คุณแม่ขา     พี่ดีนัก
ใครใครเห็น     ก็ต้องทัก     ไม่แต่ฉัน
ปากก็ดี     ใจก็ดี     ดีครบครัน
เป็นเสน่ห์     ผูกพัน     เอาฉันมา

เป็นลูกเลี้ยง     คุณแม่     แต่วันนี้
แม่ชอบใจ    เออ! นกนี่     ดีนักหนา
ช่างรู้จัก     พรอดพร่ำ     จำนรรจา(1)
เป็นลูกข้า     ก็ได้     เป็นไรมี

จำนรรจา(1) หมายถึง พูด



อยากอยู่กรง     ก็จะหา     มาให้เจ้า
หรือพอใจ     จับเจ่า     ยอดพฤกษี(1)
ก็ตามแต่     จะสมัคร     ด้วยภักดี
แม่จะเลี้ยง     เต็มที่     ไม่ฉันทา

นางแมวหมอบ     ข้างแม่     แลดูนก
ชะ! โปดก     ช่างพรอด     ยอดภักษา(2)
เจ้าเนื้อหวาน     กินสดสด     รสโอชา
แล้วแยกเขี้ยว     ตั้งท่า     จะตะครุบ

แม่ตวาด    ช้า!นางแมว     แล้วกันเจ้า
พลางตีเข้า     อย่างจัง     เสียงดังปุบ
นางแมวกลัว     ระย่อ     ลงงอฟุบ
เนื้อกระดุบ     กระดิบ     ริบหรี่ตา

เจ้าคิดเอา     ชีวิตเขา     เพราะตะกละ
ชีวิตเจ้า     บ้างล่ะ     รักไหมหวา
จะว่าโซ     ฤ ก็เปล่า     พร้อมข้าวปลา
มีให้กิน     ทุกเวลา     ไม่ขาดแคลน

พฤกษี(1)    หมายถึง ต้นไม้,       ภักษา(2) หมายถึง อาหาร




สองพี่น้อง     จ้องดูแมว     แล้วคว้านก
เข้ามากอด     ไว้กับอก     ตกใจแสน
ชิ! ชะ นาง     ตัวดี     ไม่มีแกลน(1)
เดี่ยวก็ตี     ให้แล่น     เตลิดไป

นกร้องว่า    คุณพี่ขา     อย่าโมโห
แมวมันโง่     สอนสั่ง     คงยังได้
พี่ไม่เลี้ยง     มันจะอยู่     กับผู้ใด
มันเกเร     ใครใคร     เขาก็ชัง

แกลน(1)    เกรงกลัว


แมวหมอบนิ่ง     นึกอาย     ขายหน้านก
โอ้โอ๋อก     ถูกหา     ว่าโง่งั่ง
เพราะตะกละ     เห็นแก่กิน     สิ้นยับยั้ง
จนกระทั่ง     นกน้อย     พลอยว่าเอา

แม่หัวร่อ     ฮะ!ฮะ!     กระนั้นหรือ
หายหัวดื้อ     หายตะกละ     ละซีเจ้า
สำนึกตัว     อย่างนี้     ดีไม่เบา
ใครใครเขา     ก็อภัย     ให้ทั้งนั้น

แมวร้องว่า    คุณแม่ขา     นกดีนัก
เขาไม่ยัก     ถือโทษ     โกรธเคืองฉัน
ต่อไปนี้     จะมี     ไมตรีกัน
คิดผูกพัน     เป็นเพื่อน     ร่วมเรือนชาน

เด็กร้องว่า    ดีแล้ว     นางแมวเอ๋ย
จะได้เคย     รสรัก     สมัครสมาน
เคยรู้แต่     เกลียดหนู     ศัตรูพาล
จนเคยตัว     ชอบประหาร     ตลอดมา



สืบแต่นั้น     นกคู     อยู่เป็นสุข
พอส่งเสียง     จู้กูฮุก     แมวมองหา
แล้วร้องรับ     เหมียวเหมียว     เหลียวหน้าตา
สองพี่น้อง     หุยฮา     ทุกวี่วัน


จบนิทานร้อยบรรทัดเรื่องที่ ๑